ภาษา :

ดูบทความลูกท้องอืด ทำอย่างไรดี

ลูกท้องอืด ทำอย่างไรดี

          คุณจะทำอย่างไรหาก ลูกท้องอืด หรือหากเจ้าตัวน้อยผายลมเสียงดัง จนใครต่อใครก็หันมามองที่คุณเป็นตาเดียว เพราะไม่มีใครคิดหรอกว่า เด็กน้อยผู้แสนบริสุทธิ์จะทำเช่นนี้ได้ และแม้ว่าเสียงผายลมของเบบี๋อาจทำให้คุณขำในตอนแรก แต่ถ้าเจ้าตัวน้อยหน้าแดง หงุดหงิดงอแงมากกว่าปกติ และดูเหมือนว่าจะผายลมบ่อยขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาภายในท้องของลูกที่คุณแม่ควรเป็นกังวลแล้วล่ะค่ะ

          อะไรเป็นสาเหตุอาการท้องอืดในเด็กแรกเกิด?
เป็นเรื่องปกติที่ทารกจะขับลมออกมาราววันละ 13-21 ครั้ง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น
          1. การกลืนลมเข้าไปขณะกินนม
ลูกน้อยอาจกลืนลมเข้าไปในท้องตอนที่ลูกดูดนมจากขวด จึงทำให้ลูกต้องขับลมออกมาโดยการผายลมและเรอ สำหรับการดูดนมจากเต้ามีแนวโน้มที่จะพบปัญหานี้ได้น้อยกว่า เนื่องจากลูกน้อยสามารถควบคุมการไหลของน้ำนมได้ ด้วยการดูดอย่างช้า ๆ ซึ่งจะทำให้เขาสามารถควบคุมการดูดกลืนและการหายใจได้ดีกว่า
          2. การดูดจุกหลอก
แม้ว่าจุกหลอกอาจจะช่วยให้ลูกน้อยหยุดร้องและอยู่นิ่งได้ชั่วเวลาหนึ่ง แต่การดูดจุกหลอกก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ลูกดูดเอาลมเข้าไปในท้องได้
บทความแนะนำ จุกหลอก: ข้อดีและข้อเสียที่พ่อแม่ควรรู้
          3. ร้องไห้มาก
การที่ลูกร้องตลอดเวลาเป็นวิธีที่ลูกพยายามสื่อสารกับคุณ แต่ถ้าคุณปล่อยให้ลูกร้องนานเกินไป หรือร้องไห้มากเกินไป ลมก็จะยิ่งเข้าไปในท้องเจ้าตัวน้อยมากขึ้น
          4. ภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ
ทารกที่กินนมผสม มีแนวแนวที่จะเพิ่มความเสี่ยงอาการภูมิแพ้โปรตีนนมวัว เนื่องจากโปรตีนนมวัว หรือนมแพะ และถั่วเหลือง เป็นส่วนประกอบหลักในนมผง
อย่างไรก็ดี ทารกที่กินนมแม่ก็สามารถเกิดอาการแพ้โปรตีนนมผ่านทางนมแม่ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมที่แม่รับประทานเข้าไปได้ด้วยเช่นกัน

          รู้ได้อย่างไรว่าลูกมีลมเยอะ?
นอกจากนี้ลูกจะผายลมให้เราได้ยินแล้ว คุณแม่ยังต้องสังเกตอาการต่อไปนี้ด้วยนะคะ
     • เรอบ่อย
     • หงุดหงิด
     • ท้องป่อง
     • ร้องไห้หนักมาก
     • ท้องแข็ง
     • ยืดแอ่นตัว

          ป้องกันไม่ให้ลูกท้องอืดได้อย่างไร?
คุณแม่สามารถป้องกันลูกท้องอืดได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
          1. อุ้มลูกน้อยขณะให้นม
หากคุณแม่ให้นมจากขวดก็ควรอุ้มลูกขึ้นมาเช่นเดียวกับท่าให้นมแม่ ซึ่งจะช่วยให้ศีรษะลูกอยู่สูง และน้ำนมไหลลงสู่ท้องได้อย่างดีกว่าให้ลูกนอนดูดนม หรือเอียงขวดนมทำมุม 30-40 องศา เพื่อให้อากาศลอยอยู่ที่ก้นขวด
          2. จับลูกเรอบ่อย ๆ
คุณแม่ควรจับลูกเรอระหว่างให้นม และหลังให้นม เพื่อไล่ลมที่ลูกอาจกลืนลงไประหว่างดูดนม
บทความแนะนำ วิธีอุ้มลูกเรอ
          3. ตรวจเช็กจุกนม
หากคุณแม่ให้นมจากขวด ควรตรวจสอบรูของจุกนมว่าเล็กเกินไปหรือเปล่า เพราะถ้ารูเล็กเกินไปลูกดูดนมได้น้อย ทำให้ต้องออกแรงดูดมากขึ้น ลมจึงเข้าท้องมากขึ้น แต่ถ้ารูใหญ่เกินไป อาจทำให้นมไหลเร็วเกินไป ลูกน้อยอาจสำลักได้
บทความแนะนำ จุกนมนั้นสำคัญไฉน?
          4. หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้
สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้ ซึ่งอาจส่งผ่านน้ำนม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไข่ ถั่ว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องอืด และอาการโคลิค

          รับมืออย่างไรเมื่อลูกท้องอืด?
ลดปัญหาลูกท้องอืดอย่างถูกวิธี ต้องแบบนี้สิ! วิธีแก้ปัญหาลูกท้องอืด ทำได้ดังนี้
     • นวดท้องให้ลูก โดยใช้ฝ่ามือค่อย ๆ กดบริเวณหน้าอกไล่ลงมาบริเวณใต้สะดือ จากนั้นใช้มือทั้งสองข้างช้อนบริเวณสันหลังของลูก แล้วใช้หัวแม่มือนวดวนเป็นวงกลมบริเวณท้องของลูก เพื่อช่วยไล่ลมและลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อของลูก
     • นอนงอขา จับลูกน้อยนอนหงาย จากนั้นงอหัวเข่าและขา กดขาลงไปให้ชิดท้องอย่างแผ่วเบา
     • การใช้ยาขับลม เช่น Gripe Water เพื่อลดอาการท้องอืด ย่อยไม่ดี รศ.นพ.ประพันธ์ อ่านเปรื่องภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำให้ระวังในส่วนประกอบว่ามี น้ำตาลหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งจะมีผลเสียกับทารกได้ ยากลุ่มที่ลดการบีบตัวของลำไส้อาจทำให้อาการดีขึ้น แต่จะต้องระวังผลข้างเคียงของยา เช่น กดการหายใจ ทำให้ง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยง
     • จับลูกอาบน้ำอุ่น น้ำอุ่นจะช่วยคลายกล้ามเนื้อท้องและช่วยระบายลมได้
     • จับขาลูกปั่นจักรยานอากาศ การขยับขาท่านี้จะช่วยขับลมออกจากช่องท้อง
     • ทำให้ลูกเรอ ด้วยวิธีการพาดไหล่ หรือลองจับลูกนอนคว่ำไว้บนตัก และนวดหลังเบา ๆ แต่หนักแน่น เริ่มจากก้นกบไล่ขึ้นไปถึงกระดูกสะบัก
     • ทามหาหิงค์ มหาหิงค์เป็นยาพื้นบ้านที่ผู้ใหญ่ใช้กันมาแต่โบราณ โดยการทาที่หน้าท้อง ฝ่ามือ เท้าของทารก สักพักลูกก็จะผายลมออกมา สามารถลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และขับลมได้
ลูกท้องอืดเมื่อไหร่ที่ควรกังวล?
ลูกมีอาการท้องอืดเป็นบางครั้งไม่ใช่เรื่องผิดปกติค่ะ แต่ในบางรายก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาในระบบการย่อยอาหารที่รุนแรงตามมาได้
หากเจ้าตัวน้อยมีอาการใดๆ ต่อไปนี้ควบคู่ไปกับอาการท้องอืดแล้วล่ะก็ คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอแต่ตรวจสอบการแพ้อาหาร ไข้หวัดใหญ่ลงกระเพาะ หรือกรดไหลย้อนนะคะ
     • ไม่ถ่ายอุจจาระ หรืออุจจาระมีเลือดปน
     • หงุดหงิดงอแง ทำอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด
     • มีไข้
     • ท้องเสีย
     • อาเจียน
หากโดยทั่วไปแล้วลูกน้อยอารมณ์ดี จะมีงอแงแค่แป๊บเดียวในช่วงที่ต้องการขับลม ถือเป็นสัญญาณปกติ แม้ว่าเจ้าตัวน้อยจะหน้าแดง หรือส่งเสียงดัง ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงค่ะ เมื่อระบบย่อยอาหารของลูกดีขึ้น อาการท้องอืดก็จะลดลงเองค่ะ

เรียบเรียงโดย : เตเต้ toddlerfamily #ถุงเก็บน้ำนม #ถุงเก็บนม #ถุงใส่นม #ถุงเก็บน้ำนมแม่
Cr. sg.theasianparent.com

25 มกราคม 2562

ผู้ชม 12973 ครั้ง

Engine by shopup.com