ภาษา :

ดูบทความปั๊มนมไว้ให้ลูกแค่ไหนถึงจะพอดี

ปั๊มนมไว้ให้ลูกแค่ไหนถึงจะพอดี

 


ทารกต้องการน้ำนมปริมาณมากน้อยเพียงใด 

แม่ ๆ หลายคนสงสัยว่าจะต้องเตรียมน้ำนมแม่ไว้ปริมาณเท่าไร เวลาที่ไม่สามารถอยู่ให้นมลูกได้ด้วยตนเอง
ในเด็กทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ล้วน ๆ ปริมาณน้ำนมที่เด็กได้รับจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด จากนั้นจะค่อนข้างคงที่ในช่วงอายุระหว่าง 1-6 เดือน (ถึงแม้ว่าในช่วง Growth Spurt เด็กจะต้องการน้ำนมปริมาณมากเป็นพิเศษก็ตาม) การวิจัยเกี่ยวกับนมแม่ในปัจจุบันไม่พบว่าในช่วงอายุระหว่าง 1-6 เดือน ปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกได้รับมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุหรือน้ำหนักของทารก หลังจาก 6 เดือน ปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกต้องการจะคงที่และค่อย ๆ ลดลงหลังจากผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารเสริมที่เด็กได้รับ

ผลการวิจัยบอกเราว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจะต้องการน้ำนมเฉลี่ยวันละ 25 ออนซ์ (750 มิลลิลิตร) ในช่วงอายุ 1-6 เดือน ทารกแต่ละคนต้องการน้ำนมปริมาณไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ในช่วงระหว่าง 19-30 ออนซ์ต่อวัน (570-900 มิลลิลิตรต่อวัน)

เราสามารถใช้วิธีต่อไปนี้ในการประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อได้

ประมาณจำนวนมื้อนมที่ทารกต้องการในแต่ละวัน (24 ชั่วโมง)
จากนั้นใช้ปริมาณน้ำนม 25 ออนซ์หารด้วยจำนวนมื้อนม
ตัวเลขที่ได้เป็นค่าประมาณน้ำนมแม่ที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อนม

ตัวอย่าง : ถ้าทารกดูดนมเฉลี่ยประมาณวันละ 8 ครั้ง คุณอาจเดาว่าทารกน่าจะต้องการน้ำนมประมาณมื้อละ 3 ออนซ์ช่วงที่แม่ไม่อยู่ (25/8 = 3.1)

หมายเหตุ : ทารกที่อายุน้อยกว่า 1 เดือนหรือทารกที่ได้รับอาหารเสริมแล้วจะต้องการน้ำนมปริมาณน้อยกว่านี้ 

แล้วถ้าลูกได้รับอาหารเสริมแล้วล่ะ ?

ช่วงอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี (ระหว่างที่ปริมาณอาหารเสริมที่ทารกได้รับค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น) ปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับอาจจะเริ่มลดน้อยลง แต่น้ำนมแม่ควรจะยังคงเป็นแหล่งอาหารหลักของทารกตลอดช่วงขวบปีแรก เนื่องจากปริมาณอาหารเสริมที่ทารกได้รับแตกต่างกันมากในช่วง 6 เดือนนี้ ทำให้ปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการแตกต่างกันด้วยเช่นกัน ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าทารกต้องการนมวันละ 30 ออนซ์ (875 มิลลิลิตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 93% ของอาหารที่ทารกได้รับทั้งหมด) เมื่ออายุได้ 7 เดือน และลดลงเหลือ 19 ออนซ์ (550 มิลลิลิตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด) ในช่วงอายุ 11-16 เดือน

ในงานวิจัยซึ่งมีการวัดปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกอายุระหว่าง 12-24 เดือนต้องการพบว่า ทารกต้องการน้ำนมเฉลี่ยประมาณ 14-19 ออนซ์ต่อวัน (400-550 มิลลิลิตรต่อวัน) และในช่วงอายุ 24-36 เดือน ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยลดลงเหลือ 10-12 ออนซ์ต่อวัน (300-360 มิลลิลิตรต่อวัน) 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับน้ำนมมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ ?

ระลึกไว้เสมอว่าปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับในแต่ละมื้อจะต่างกันออกไป เหมือน ๆ กับที่ปริมาณอาหารและน้ำที่ผู้ใหญ่ได้รับแตกต่างกันในช่วงวัน ทารกอาจจะดูดนมปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละมื้อ ให้ดูที่ความต้องการของทารกเป็นหลัก ไม่ใช่คอยพยายามกระตุ้นให้เขาดูดนมจนหมดขวดทุกครั้งไป

ถ้าทารกดูดนมมากกว่าปริมาณกว่าค่าเฉลี่ยมาก ๆ อาจเป็นไปได้ว่าทารกได้รับการป้อนนมปริมาณมากเกินไปช่วงที่คุณไม่อยู่ ปัจจัยที่อาจมีผลให้ทารกได้รับน้ำนมมากเกินไปได้แก่

น้ำนมจากขวดไหลเร็วเกินไป พยายามใช้จุกนมที่ให้น้ำนมไหลช้าที่สุดเท่าที่ทารกจะยอมรับได้
การใช้ขวดนมเป็นเครื่องปลอบให้ทารกสงบ พี่เลี้ยงบางคนให้นมขวดแก่ทารกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงร้อง คุณควรประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้น และเริ่มให้จากปริมาณนั้น ถ้าทารกยังแสดงอาการอยากดูดนมต่อ ให้พี่เลี้ยงลองปลอบด้วยวิธีอื่นเช่น อุ้มเดิน โยก หรือกอด ดูก่อน ถ้าไม่ได้ผล จึงค่อยให้นมเพิ่มอีกหนึ่งหรือสองออนซ์
ความต้องการดูดของทารก ทารกทุกรายชอบดูด และอาจจะอยากดูดมากขึ้นไปอีกเมื่อแม่ไม่อยู่ (การดูดเป็นวิธีที่ทารกใช้ปลอบตัวเอง) เวลาดูดนมจากเต้าของแม่ ทารกสามารถควบคุมปริมาณน้ำนมที่ไหลได้ และทำให้ได้รับน้ำนมไม่มากเวลาที่เขาแค่ต้องการจะดูดโดยที่ไม่หิว ในขณะที่เวลาดูดนมขวด ทารกจะได้รับน้ำนมปริมาณมากตลอดเวลาที่เขาดูด ถ้าทารกดูดนมแม่จากขวดเป็นจำนวนมากเวลาคุณไม่อยู่ อาจลองให้ทารกดูดนิ้วมือ หัวแม่มือ หรือใช้จุกหลอกแทน เพื่อตอบสนองความต้องการดูดของเขา
ถ้าลองทุกวิธีข้างต้นแล้วคุณก็ยังไม่สามารถปั๊มนมได้มากพอเท่าที่ลูกต้องการ ให้อ่านหัวข้อ วิธีเพิ่มปริมาณน้ำนม 
ถ้าทารกดูดนมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก ๆ ล่ะก็ อาจเป็นไปได้ว่าเขาอาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปดูดนมกลางคืนแทน โดยระหว่างวัน เขาจะดูดนมเพียงแค่พอประทังความหิว และรอจนกว่าแม่จะกลับมาเพื่อดูดชดเชย ทารกมักจะดูดนมบ่อยและนานขึ้นเมื่อแม่กลับมา แม่ ๆ หลายคนสนับสนุนให้ลูกเป็นแบบนี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องปั๊มน้ำนมปริมาณมากนัก พฤติกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่พบกันเสมอ โดยเฉพาะในทารกที่เพิ่งเริ่มหัดดูดนมจากขวด

ถ้าลูกของคุณหันมาดูดนมกลางคืนแทน คุณอาจทดลองใช้เทคนิคเหล่านี้ดู 
อดทนเข้าไว้ อย่าไปเครียดหรือวิตกกังวล คิดซะว่ามันเป็นเรื่องที่ดี – ลูกชอบคุณมากกว่าขวดเชียวนะ 
ใส่น้ำนมปริมาณน้อย ๆ ในแต่ละขวดเพื่อจะได้ไม่ต้องเททิ้งมากนัก 
ถ้าเป็นห่วงว่าลูกจะได้รับน้ำนมน้อยเกินไปช่วงที่คุณไม่อยู่ ลองนึกดูว่าทารกบางคนนอนหลับยาวรวดเดียว 8 ชั่วโมงตอนกลางคืนโดยไม่มีปัญหาว่าเขาจะได้รับนมไม่พอ ให้คอยดูว่าเขาฉี่ปริมาณมากพอและน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าเขาได้รับน้ำนมเพียงพอ 
ให้แน่ใจว่าทารกมีโอกาสได้ดูดนมจากเต้ามากพอเวลาที่คุณอยู่ด้วย 

วิธีอื่น ๆ ในการประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการ

มีวิธีประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการโดยคำนวณจากน้ำหนักและอายุของทารกอีกหลายวิธี แต่จากผลการวิจัยพบว่าหลังจากผ่านช่วงสัปดาห์แรก ๆ ไป วิธีเหล่านี้มักให้ค่าที่สูงเกินกว่าปริมาณที่ทารกต้องการจริง ทารกที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่มักจะต้องการน้ำนมน้อยกว่าค่าที่ประมาณด้วยวิธีเหล่านี้ ผลการวิจัยล่าสุดบอกเราว่าปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการค่อนข้างคงที่หลังจากเดือนแรก และไม่เพิ่มขึ้นตามอายุหรือน้ำหนักมากนัก ซึ่งเป็นการยืนยันข้อสังเกตที่แม่ ๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งหลายค้นพบจากประสบการณ์ตรงมาก่อนหน้านี้แล้ว

แปลจาก How much expressed milk will my baby need? By Kelly Bonyata, BS, IBCLC โดย แม่ต่าย

อย่าลืมว่า คำขอบคุณเล็กๆ น้อยจากผู้อ่าน เป็นกำลังใจอย่างดีให้ผู้แปลนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
http://www.breastfeedingthai.com/

09 สิงหาคม 2561

ผู้ชม 13041 ครั้ง

Engine by shopup.com